การตั้งศาลพระภูมิ
สิ่งที่ต้องคำนึงในการตั้งศาลพระภูมิ คือ สถานที่ตั้ง,ทิศทาง,วันและฤกษ์ตั้ง,ความสูงของศาลพระภูมิและผู้ประกอบ พิธีกรรมการตั้งศาลพระภูมิ
สถานที่ที่ตั้งศาล มีหลักการพิจารณาดังนี้
1. ที่ตั้งศาลต้องเป็นบริเวณพื้นดิน มิใช่บริเวณเดียวกับพื้นของตัวบ้าน
2. หากไม่มีพื้นที่ที่เป็นพื้นดิน สามารถทำการตั้งศาลบนชั้นดาดฟ้าได้ แต่ส่วนใหญ่ศาลที่ตั้งบนดาดฟ้าจะเป็นศาลเทพต่างๆ เช่นพระพรหม หรือ พระนารายณ์ มิใช่พระภูมิเจ้าที่
3. จุดที่ตั้งของศาลต้องไม่ถูกเงาของตัวบ้านทอดลงมาทับ
4. ที่ตั้งของศาลควรอยู่ห่างจากบริเวณที่ตั้งของห้องน้ำ
5. อย่าตั้งศาลให้อยู่ใกล้กับตัวบ้านมากนัก
6. อย่าหันหน้าศาลเข้าสู่บริเวณที่ตั้งของห้องน้ำ
7. ไม่ควรตั้งศาลให้หันหน้าตรงกับประตูหน้าบ้าน
8. ตั้งศาลให้ห่างจากรั้วหรือกำแพงบ้านอย่างน้อย 1 เมตร
9. ถ้าสามารถยกพื้นที่ตั้งศาลให้สูงขึ้นสัก 1 คืบ จากพื้นดินได้ ก็เหมาะสมอย่างยิ่ง
10. ความสูงของศาล ควรสูงเหนือระดับสายตาของผู้เป็นเจ้าของบ้านขึ้นไปเล็กน้อย
ทิศทาง การหันหน้าศาลพระภูมิสู่ทิศมงคล
1. ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ ทิศอีสาน เป็นทิศที่ดีที่สุดหากตั้งศาลหันไปทิศนี้บ้านนั้นจะมีความเจริญรุ่งเรืองตลอดไป
2. ทิศตะวันออก หรือ ทิศบูรพา เป็นทิศที่ดีอันดับ 2 หากตั้งศาลหันไปทิศนี้บ้านนั้นจะมีความเจริญรุ่งเรืองอยู่ประมาณ 100 ปี หลังจากนั้น จะมีแต่เสื่อมลงๆจนถึงขั้นหาความสุขความเจริญไม่ได้
3. ทิศตะวันออกเฉียงใต้ หรือ ทิศอาคเณย์ เป็นทิศที่ดีอันดับ 3 หากตั้งศาลหันไปทิศนี้บ้านนั้นจะมีความเจริญรุ่งเรืองอยู่ประมาณ 50 ปี หลังจากนั้น จะมีแต่เสื่อมลงๆจนถึงขั้นหาความสุขความเจริญไม่ได้
ทิศต้องห้ามในการตั้งศาลพระภูมิ คือ ทิศตะวันตกและทิศใต้
เมื่อหาทิศทางตั้งศาลได้แล้วจะต้องพูนดินให้สูง 1 คืบ เกลี่ยดินด้วยมือและทุบให้แน่น ห้ามใช้เท้าเด็ดขาด และเตรียมน้ำมนต์ไว้พรมบริเวณพื้นดินเพื่อขับไล่ภูตผีปีศาจและสิ่งชั่วร้าย ต่างๆ น้ำมนต์ที่ว่านี้เรียกว่า " น้ำมนต์ธรณีสาร " น้ำมนต์ธรณีสารนี้ ทำได้โดยนำน้ำธรรมดาไปให้พระท่านสวดพระพุทธมนต์ทำเหมือนน้ำมนต์ทั่วไปแต่ ต่างกัน ตรงที่ให้ท่านนำใบไม้ต้นธรณีสารมาใส่ลงในน้ำที่จะทำน้ำมนต์
วันและฤกษ์ตั้งศาล
มีความสำคัญมาก ควรเลือกวันที่ดีและมีความเป็นสิริมงคลเพื่อให้ประสิทธิ์ผลในทางมงคล แก่ผู้อยู่อาศัยในบ้านเรือนนั้นสืบต่อไป วันต่อไปนี้ถือเป็นวันที่เป็นมงคลฤกษ์
วันข้างขึ้น | วันข้างแรม |
๒ ค่ำ | ๒ ค่ำ |
๔ ค่ำ | ๔ ค่ำ |
๖ ค่ำ | ๖ ค่ำ |
๙ ค่ำ | ๙ ค่ำ |
๑๑ ค่ำ | ๑๑ ค่ำ |
แต่ถ้าวันข้างขึ้น หรือข้างแรมดังกล่าวไปตรงกับวันต้องห้าม ของเดือนใด ให้เลี่ยงไปใช้วันอื่นเสีย
เวลาฤกษ์อันเป็นมงคล
วัน | เวลา |
วันอาทิตย์ | เวลา ๖.๐๙ น. - ๘.๑๙ น. |
วันจันทร์ | เวลา ๘.๒๙ น. - ๑๐.๓๙ น. |
วันอังคาร | เวลา ๖.๓๙ น. - ๘.๐๙ น. |
วันพุธ | เวลา ๘.๓๙ น. - ๑๐.๑๙ น. |
วันพฤหัสบดี | เวลา ๑๐.๔๙ น. - ๑๑.๓๙ น. |
วันศุกร์ | เวลา ๖.๑๙ น. - ๘.๐๙ น. |
วันเสาร์ | เวลา ๘.๔๙ น. - ๑๐.๔๙ น. |
วันต้องห้าม
เดือน | วันต้องห้ามคือ |
เดือนอ้าย ธันวาคม) | วันพฤหัสบดี และวันเสาร์ |
เดือนยี่ (มกราคม) | วันพุธ และวันศุกร์ |
เดือน ๓ (กุมภาพันธ ) | วันอังคาร |
เดือน ๔ (มีนาคม) | วันจันทร์ |
เดือน ๕ (เมษายน) | วันพฤหัสบดี และวันเสาร์ |
เดือน ๖ (พฤษภาคม) | วันพุธ และวันศุกร์ |
เดือน ๗ (มิถุนายน) | วันอังคาร |
เดือน ๘ (กรกฎาคม) | วันจันทร์ |
เดือน ๙ (สิงหาคม) | วันพฤหัสบดี และวันเสาร์ |
เดือน ๑๐ (กันยาย ) | วันพุธ และวันศุกร์ |
เดือน ๑๑ (ตุลาคม) | วันอังคาร |
เดือน ๑๒ (พฤศจิกายน) | วันจันทร์ |
จะสังเกตได้ว่า จะไม่ปรากฏว่ามี วันอาทิตย์ เป็น ข้อห้ามเลย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าให้ยึดเอาวันอาทิตย์ เป็นวันที่ดีที่สุดสำหรับการตั้งศาล เพราะคนโบราณถือกันว่า วันอาทิตย์นั้นแม้จะจะเป็นวันที่มีกำลังแรงดี แต่เป็นวันแรงและวันร้อน ไม่เหมาะที่จะทำการตั้งศาล เพราะบ้านอาจจะ ร้อน จรปราศจากความร่มเย็นเป็นสุข แต่ ถ้าหากผู้กระทำพิธีมีเคล็ดมีมนตร์แก้ความร้อนของวันได้ ก็สามารถคิดทำการตั้งศาลในวันนี้ได้ตามความสะดวก
ความสูงของศาล
ขึ้นอยู่กับ ตัวเจ้าของบ้าน โดยให้ระดับฐานหรือชานชาลาพระภูมิอยู่เหนือระดับปาก (บางตำราว่าอยู่เหนือคิ้วพอดี ) ของผู้เป็นเจ้าของบ้าน ดังนั้นเมื่อมีการเปลี่ยนเจ้าบ้าน ก็ควรจะตั้งศาลพระภูมิขึ้นใหม่ การใช้ศาลพระภูมิร่วมกัน กรณีที่เป็นหมู่บ้าน,ชุมชนหรือตึกแถว ให้ยึดเอาความสูงจาก เจ้าของผู้สร้างเริ่มแรก หรือหัวหน้าชุมชนนั้นๆ โดยให้เป็นตัวแทนเพื่อมาทำการยกศาลพระภูมิขึ้นเพื่อบอกกล่าวและสักการะ ขอให้ท่านดูแลปกปักษ์รักษาให้คุณ ให้โชคลาภ ความเจริญรุ่งเรืองแก่ผู้อยู่อาศัยทุกคน
การปักเสาตั้งศาล
ต้องเตรียมหลุมให้เสร็จก่อนเริ่มพิธี ( ค่อยมีพิธีในวันรุ่งขึ้น ) โดยต้องเตรียมของดังนี้ พานครู 1 พาน ใช้สำหรับใส่ข้าว ธูป เทียนขาว ดอกไม้หรือพวงมาลัยสด เหล้า บุหรี่ ผ้าขาว เงิน 6 สลึงหรือ 99 บาท
รายการของมงคลใส่หลุม (ปัจจุบันที่นิยมใช้)
รายการมงคล | จำนวน |
1 | เหรียญเงิน | 9 เหรียญ |
2 | เหรียญทอง (เหรียญสลึงหรือ 50 สตางค์ก็ได้) | 9 เหรียญ |
3 | ใบเงิน | 9 ใบ |
4 | ใบทอง | 9 ใบ |
5 | ใบนาค | 9 ใบ |
6 | ใบรัก | 9 ใบ |
7 | ใบมะยม | 9 ใบ |
8 | ใบนางกวัก | 9 ใบ |
9 | ใบนางคุ้ม | 9 ใบ |
10 | ใบกาหลง | 9 ใบ |
11 | ดอกบานไม่รู้โรย | 9 ดอก |
12 | ดอกพุทธรักษา | 9 ดอก |
13 | ไม้มงคล | 9 ชนิด |
14 | แผ่น เงิน,ทอง,นาค | 1 ชุด |
15 | พลอยนพเก้า | 1 ชุด |
การกลบหลุมนั้นให้ใช้มือกด ห้ามใช้เท้าโดยเด็ดขาด
ผู้ประกอบพิธีกรรมการตั้งศาลพระภูมิ
ควรจะเป็นผู้ที่ปฏิบัติธรรมมีศีลธรรม ทำบุญทำทานประจำ มีความซื่อสัตย์สุจริต ยุติธรรม จะทำให้การตั้งศาลพระภูมิบังเกิดผลดี มีความเจริญรุ่งเรืองแก่เจ้าของบ้าน หรือเจ้าบ้านจะเป็นผู้กระทำพิธีกรรมก็ได้ โดยศึกษาขั้นตอนพิธีกรรมต่างๆ และให้ถือศีลกินเจ 7 วัน ( 3,5,7 วันก็ได้ หรือมากกว่านี้ก็ได้ )
ส่วนประกอบสำคัญของศาลพระภูมิ
จะเหว็ดศาลพระภูมิ จะเป็นรูปพระภูมิอยู่ในแผ่นคล้ายแผ่นเสมา มือขวาถือพระขรรค์ มือซ้ายถือถุงเงินหรือสมุด(หนังสือ) และการปลุกเสกจะเหว็ดให้เป็นองค์พระภูมิมีดังนี้ บรรจุธาตุทั้ง 6 คือ บรรจุพระพุทธคุณ,บรรจุพระธรรมคุณ,บรรจุพระสังฆคุณ ตลอดเทวคุณและวิญญาณธาตุเข้าไปในจะเหว็ดจากที่เรียกว่า จะเหว็ดเมื่อปลุกเสกแล้วก็จะเรียกว่า "พระภูมิ" บริวารของพระภูมิจะมี
1. ตุ๊กตาชาย-หญิง อย่างละ 1 คู่
2. ตุ๊กตาช้าง-ม้า อย่างละ 1 คู่
3. ละครยก 2 โรง
เครื่องประดับตกแต่ง จะประกอบด้วย
เครื่องประดับตกแต่ง | จำนวน |
1 | แจกัน | 1 คู่ |
2 | เชิงเทียน | 1 คู่ |
3 | กระถางธูป | 1 ใบ |
4 | ผ้าผูกจะเหว็ด | 1 ผืน |
5 | ผ้าพันศาล (ผ้าแพร 3 สี คือ สีเขียว,สีเหลืองและสีแดง) | 1 ชุด |
6 | ฉัตรเงิน-ทอง | 2 คู่ |
7 | ด้ายสายสิญจน์ | 1 ม้วน |
8 | ผ้าขาว | 1 ผืน |
9 | ทองคำเปลว | - |
10 | แป้งเจิม | 1 ถ้วย |
11 | ดอกบัว | 9 ดอก |
12 | ดอกไม้ ี(มาลัย 7 สี ) | 7 ส |
เครื่องสังเวยสำหรับตั้งศาล
จะประกอบด้วยอาหารคาวหวานดังนี้
เครื่องประดับตกแต่ง | จำนวน |
1 | หัวหมู | 1 หัว |
2 | ขนมต้มขาว | 2 จาน |
3 | ไก่ต้ม | 1 ตัว |
4 | ขนมถั่วงา | 2 จาน |
5 | เป็ด | 1 ตัว |
6 | ขนมถ้วยฟู | 2 จาน |
7 | ปลานึ่ง | 1 ตัว |
8 | ขนมหูช้าง | 2 จาน |
9 | ปู หรือ กุ้ง | 1 จาน |
10 | เผือก-มันต้ม | 2 จาน |
11 | บายศรีปากชามยอดไข่ | 1 คู่ |
12 | ฟักทอง | 2 ผล |
13 | น้ำจิ้ม | 2 ถ้วย |
14 | แตงไทย | 2 ผล |
15 | ข้าวสวย | 2 ถ้วย |
16 | ขนุน | 2 จาน |
17 | เหล้า | 1 ขวด |
18 | สับปะรด | 2 ผล |
19 | น้ำชา | 2 ถ้วย |
20 | กล้วย | 2 หวี |
21 | น้ำสะอาด | 2 แก้ว |
22 | ผลไม้ 5 ชนิด | 2 จาน |
23 | มะพร้าวอ่อน | 1 คู่ |
24 | พานหมาก พลู บุหรี่ | 1 คู่ |
25 | ขนมต้มแดง | 2 จาน |
**ถ้าขนาดบ้านและศาลพระภูมิเล็ก ก็สามารถใช้สับปะรดเพียง 1 ผลได้แต่จัดแบ่งเป็น 2 จาน *
เครื่องสังเวยสำหรับตั้งศาล ( มังสวิรัติ )
เครื่องประดับตกแต่ง | จำนวน |
1 | มะพร้าวอ่อน | 1 คู่ |
2 | ขนมถ้วยฟู | 2 จาน |
3 | พานหมาก พลู บุหรี่ | 1 คู่ |
4 | ถั่วคั่ว | 2 จาน |
5 | ฟักทอง | 2 ผล |
6 | น้ำสะอาด | 2 แก้ว |
7 | งาคั่ว | 2 จาน |
8 | แตงไทย | 2 ผล |
9 | ข้าวสวย | 2 ถ้วย |
10 | เผือก-มันต้ม | 2 จาน |
11 | ขนุน | 2 จาน |
12 | น้ำชา | 2 ถ้วย |
13 | ขนมต้มแดง | 2 จาน |
14 | สับปะรด | 2 ผล |
15 | นม | 2 ถ้วย |
16 | ขนมต้มขาว | 2 จาน |
17 | สับปะรด | 2 ผล |
18 | เนย | 2 ถ้วย |
19 | ขนมถั่วงา | 2 จาน |
20 | ผลไม้ 5 ชนิด | 2 จาน |
ผลไม้ที่ห้ามนำถวาย
มังคุด | มะเฟือง | น้อยหน่า |
ลูกจาก | มะตูม | ละมุด |
มะไฟ | กระท้อน | ลูกพลับ |
พุทรา | ระกำ | น้อยโหน่ง |
ลูกท้อ | มะขวิด | ลางสาด |
คนไทยโบราณมีความเชื่อว่าผลไม้ทั้ง 15 ชนิดนี้เป็นอัปมงคล ไม่ควรนำมาถวายเป็นเครื่องสังเวยหน้าศาลพระภูมิเป็นอันขาด